วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทความผีเสื้อ






ต้นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
วิวัฒนาการของผีเสื้อ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าผีเสื้ออาจมีต้นกำเนิดแต่ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period) ซึ่งยุติเมื่อกว่าหกสิบห้าล้านปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ในตระกูลผีเสื้อมีน้อยมาก จึงทำให้การคะเนเกี่ยวกับต้นกำเนิดผีเสื้อเป็นไปได้ไม่สะดวกนัก โดยซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ดังกล่าวที่มีอายุมากที่สุดคือซากนิรนามของสัตว์สคิปเพอร์ (Skipper, Thymelicus lineola) อายุราวสมัยพาเลโอซีน (Paleocence Epoch, ประมาณห้าสิบเจ็ดล้านปีก่อน) พบที่เมืองเฟอร์(Fur) ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และซากดึกดำบรรพ์ประเภทอำพันแห่งโดมินิกัน (Dominican amber) ของผีเสื้อเมทัลมาร์ก (Metalmark, Voltinia dramba) อายุยี่สิบห้าล้านปี
ปัจจุบันโดยปรกติวิสัยผีเสื้อกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิประเทศหนาวเย็นและแห้งแล้ง มีการประมาณว่าขณะนี้มีผีเสื้อในมหาวงศ์ (Superfamily) พาพิลิโอโนอิเดีย(Papilionoidea) กว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยชนิด (species) และมหาวงศ์เลพิดอปเทรา (Lepidoptera) กว่าหนึ่งแสนแปดหมื่นชนิด
การจำแนก
ปัจจุบันมีการจำแนกผีเสื้อออกเป็นสามมหาวงศ์ (Superfamily) คือ 1. เฮดิโลอิเดีย (Hedyloidea) 2. เฮสเพอริโออิเดีย (Hesperioidea) และ 3. พาพิลิโอโนอิเดีย (Papilionoidea) และนอกจากนี้ยังมีการจำแนกซึ่งเป็นที่นิยมอยู่อีกสองแบบ ดังต่อไปนี้
การจำแนกแบบอนุกรมวิธานพืช
การศึกษาว่าด้วยโครงสร้างและโมเลกุลทางพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ตามอนุกรมวิธาน (Taxonomic) ได้มีกำหนดมหาวงศ์เพิ่มเติมนอกจากข้างต้น เช่น ดาเนเด (Danaidae) เฮลิโคนีเด (Heliconiidae) ลิบีเทเด (Libytheidae) และ แซไทริเด (Satyridae) เป็นต้น

การจำแนกกลุ่มผีเสื้อกลางวันและกลุ่มผีเสื้อกลางคืน

ผีเสื้อแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน หากดูเพียงผิวเผิน จะเห็นว่าทั้งผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย แต่ในทางอนุกรมวิธานผีเสื้อกลางวันกับผีเสื้อกลางคืนอยู่ในอันดับย่อย(suborder) ต่างกัน คือ อันดับย่อย ผีเสื้อกลางวัน (butterfly) และอันดับย่อยผีเสื้อกลางคืน(moth) หรือที่เราเรียกว่าแมลงมอธ ในจำนวนผีเสื้อนับแสนชนิดในโลกนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืน มีผีเสื้อกลางวันประมาณ 10 % ของผีเสื้อทั้งหมด แต่ด้วยสีสรรอันสวยงาม และสดุดตา และโอกาสที่พบเห็นได้ง่าย ในเวลากลางวัน ผีเสื้อกลางวันจึงเป็นที่รู้จักมากกว่า ในการที่จะชี้ชัดลงไปว่าเป็นผีเสื้อกลางวัน หรือผีเสื้อกลางคืนนั้น จะต้องใช้หลักเกณฑ์หลาย ๆอย่างประกอบการพิจารณา หากจะให้ละเอียดลงไป ต้องอาศัยลักษณะทางกายวิภาค และพฤติกรรมอื่น ๆ มาประกอบด้วย
ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนมีความแตกต่างกันหลายประการ ลักษณะสำคัญที่พอจะสังเกตได้ง่าย ๆ คือ

1. หนวด
ผีเสื้อกลางวันจะมีปลายหนวดพองโตออกคล้ายกระบอง บางพวกมีปลายหนวดโค้งงอเป็นตะขอ เวลาเกาะจะชู หนวดขึ้นเป็นรูปตัววี (V) ส่วนผีเสื้อกลางคืนมีหนวดรูปร่างต่างกันหลายแบบ เช่น รูปเรียวคล้ายเส้นด้าย รูปฟันหวี หรือแบบพู่ขนนก เวลาเกาะพักจะวางแนบไปกับขอบปีกคู่หน้า แต่บางชนิดก็มีลัษณะคล้ายผีเสื้อกลางวัน

2 ลำตัว
ผีเสื้อกลางวันมีลำตัวค่อนข้างยาวเรียวเมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของปีกไม่มีขนปกคลุม หรือมีเพียงบาง ๆ เห็นไม่ชัดเจน ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืน มีลำตัวอ้วนสั้น มีขนปกคลุมมากและเป็นเส้นยาวเห็นได้ชัดเจน

3. การออกหากิน
ผีเสื้อกลางวันส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางวันแต่มีบางชนิดออกหากินในเวลาเช้ามืดและเวลาใกล้ค่ำ ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืน ออกหากินในเวลากลางคืน ดังที่เราพบเห็นบินมาเล่นแสงไฟ ตามบ้านเรื่อนแต่ก็มีบางชนิดที่ออกหากินกลางวัน เช่น ผีเสื้อทองเฉียงพร้า ซึ่งจะมีสีสันฉูดฉาดสวยงาม ไม่แพ้ผีเสื้อกลางวัน

4. การเกาะพัก
ผีเสื้อกลางวันขณะเกาะพักมักจะหุบปีกขึ้นตั้งตรง ยกเว้นกรณีที่ปีกเปียกฝนอาจกางปีกออกผึ่งแดด แต่ก็มีผีเสื้อบางชนิด ที่กางปีกตลอดเวลา เช่น ผีเสื้อในสกุลผีเสื้อกะลาสี ส่วนผีเสื้อกลางคืน จะกางปีกออกแนบกับพื้นที่เกาะ ขอบปีกด้านหน้า จะอยู่ข้างลำตัวต่ำกว่าระดับของหลังเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือคล้ายกระโจม และคลุมปีกคู่หลังจนมิด ผีเสื้อกลางวัน เวลาเกาะ ตั้งปีกขึ้น

5. ปีก 
โดยทั่วไปผีเสื้อกลางวันจะมีปีกกว้างเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัวยกเว้นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อกลางคืนจะมีขนาดเล็กใกล้เคียงกับลำตัว แต่ก็มีบางชนิดที่ปีกมีขนาดใหญ่มาก ๆ เช่นผีเสื้อหนอนกะท้อน

6. การเชื่อมติดของปีก
เพื่อให้ปีกกระพือไปพร้อมกันเวลาบินของผีเสื้อกลางวันปีกคู่หลังจะขยายกว้างยื่นเข้าไปซ้อนทับและแนบสนิทอยู่ใต้ปีกคู่หน้า แต่ในผีเสื้อกลางคืนจะมีขนแข็งจากปีกคู่หลัง ซึ่งอาจจะมี 1 หรือ 2 เส้น สอดเข้าไปเกี่ยวกับตะขอเล็ก ๆ ที่โคนปีกด้านใต้ของปีกคู่หน้า

Butterfly : Moth

ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงลักษณะกว้างๆ ที่คนทั่วไปพอจะแยกได้เท่านั้น ยังไม่อาจชี้ชัดลงไปโดยเด็ดขาดว่าเป็นผีเสื้อกลางวันหรือผีเสื้อกลางคืน ยังมีรายละอเยดปลีกย้อยอีกมากต้องอาศัยความชำนาญการสังเกตร่วมด้วย

        ผีเสื้อเป็นแมลงที่มีความแตกต่างกันในเรื่องขนาดมากที่สุด บางชนิดเล็กมาก เมื่อกางปีกเต็มที่กว้างเพียง 0.25 นิ้ว บางชนิดก็ใหญ่มากเมื่อกางปีกเต็มที่กว้างถึง 12 นิ้ว โลกของเราใบนี้มีผีเสื้ออยู่มากกว่า 140,000 ชนิด สำหรับประเทศไทยนั้นมีผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) อยู่ทั้งหมด 5 วงศ์ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,300 ชนิด และผีเสื้อกลางคืน (Moth) มีมากกว่า 10,000 ชนิดขึ้นไป

การเจริญเติบโตของผีเสื้อ





1.  ระยะไข่ (Egg Stage)
2.  ระยะหนอนหรือบุ้ง (Caterpillar Stage หรือ Larva Stage)
3.  ระยะดักแด้ (Pupa Stage หรือ Chrysalis Stage)
4.  ระยะเจริญวัย (Adult Butterfly Stage หรือ Imago Stage)
    
      
ระยะไข่
ไข่ของผีเสื้อมีลักษณะของขนาด รูปร่าง สีสัน และลวดลายแตกต่างกันไป โดยขนาดของไข่นั้นจะเล็กมาก ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ในการศึกษาไข่ของผีเสื้อ เปลือกไข่ประกอบด้วยสารไคติน ที่เป็นสารชนิดเดียวกับเปลือกลำตัวของผีเสื้อและแมลงชนิดอื่นๆ และเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะพบรูเปิดเล็กๆ เรียกว่า ไมโครพายล์ (micropyle) เป็นรูที่ทำให้น้ำเชื้อตัวผู้เข้าไปผสมกับไข่ของตัวเมียได้

ระยะหนอน
ระยะที่คนเราเรียกว่า หนอน มีหลากหลายสี หลังจากตัวหนอนฟักออกจากไข่แล้ว ตัวหนอนมีลักษณะที่แตกต่างกัน อาหารอย่างแรกที่ตัวหนอนกินคือ เปลือกไข่ของตัวเอง หลังจากนั้นตัวหนอนจึงเริ่มกินใบพืช โดยเริ่มที่ใบอ่อนก่อน ซึ่งลักษณะการกินของตัวหนอนจะเริ่มจากขอบใบเข้าหากลางใบ และจะมีการลอกคราบเพื่อขยายขนาด 4-5 ครั้ง โดยตลอดระยะเวลาที่เป็นตัวหนอนนี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นอกจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นแล้ว บางชนิดสีสันและรูปร่างก็แตกต่างกันไปด้วย เช่น หนอนผีเสื้อหางติ่ง หนอนมะนาว ในระยะแรกๆ สีสันก็เหมือนมูลนก แต่เมื่อตัวหนอนโตขึ้นสีสันจะเปลี่ยนไป เป็นสีเขียวมีลวดลายคล้ายตาที่ส่วนอกด้วย เป็นต้น แต่ทั้งหมดมีสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สามารถจำแนกว่าเป็นตัวหนอนผีเสื้อได้คือ ตัวหนอนมีขาจริง 3 คู่ที่ส่วนอก และขาเทียม 4-5 คู่ที่ส่วนท้อง ตัวหนอนทั่วไปมักหากินเดี่ยวๆ แต่ก็มีบางชนิดทีระยะแรกๆ หากินกันเป็นกลุ่ม ในระยะนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 15 วัน แมลงที่ลงทำลายพืชผลทางการเกษตรก็จะเป็นวัยนี้เกือบทั้งสิ้น

ระยะดักแด้
เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่จะต้องมองหาสิ่งที่ที่จะลอกคราบเพื่อเข้าดักแด้ ซึ่งจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้แต่ภายในเปลือกดักแด้ การพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นระยะที่มีการสะสมอาหารไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ดึงดูดบรรดาตัวเบียนต่างๆ ตัวหนอนของผีเสื้อแต่ละชนิดจะเลือกที่เข้าดักแด้ต่างกันไป ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน

ระยะเจริญวัย
ระยะเจริญวัยคือผีเสื้อที่มีสีสันสวยงาม เริ่มต้นนับตั้งแต่ออกจากดักแด้ โดยผีเสื้อใช่ขาดันเปลือกดักแด้ให้ปริแตกออก และผีเสื้อที่มีปีกยับยู่ยี่จะออกมา ในลักษณะห้อยหัวลงพร้อมถ่ายของเสียที่เป็นสีชมพูออกมา ในระยะแรกปีกของผีเสื้อยังไม่สามารถแผ่ได้ จำเป็นต้องมีการปั้มของเหลวเรียกว่า ฮีโมลิมพ์ เข้าไปในเส้นปีก และต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการทำให้ปีกแข็งพอที่จะใช้ในการบิน ผีเสื้อสามารถอยู่ได้ 2-3 วัน บางชนิดอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดและแต่ละช่วงอายุขัย
มนุษย์มีความผูกพันกับผีเสื้อมาเป็นระยะเวลาช้านาน ในวัฒนธรรมของหลายชนชาติ ผีเสื้อถูกเชื่อและอ้างอิงถึงต่าง ๆ เช่น ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ผีเสื้อ คือ วิญญาณของผู้ตายที่มาสื่อสารบางอย่างแก่ผู้ที่ยังผูกพัน เช่น คนรัก หรือคนในครอบครัว มีบทกวีไฮกุบทหนึ่งที่กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเห็นดอกไม้ลอยกลับเข้าหาต้น แท้ที่จริงแล้วเป็นผีเสื้อตัวหนึ่ง" นอกจากนี้แล้วยังมีนิทานพื้นบ้านของจีน ที่กล่าวถึง ชายหนุ่มผู้หนึ่งที่มีนางไม้คู่แฝดมาหลงรักเขา โดยนางทั้งสองจะแวะเวียนมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อให้ฟังอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้แล้วในวัฒนธรรมร่วมสมัย ผีเสื้อยังมักถูกใช้เป็นรอยสักตามร่างกายส่วนต่าง ๆ ของมนุษย์ ในดนตรีร็อกแนวเฮ
ฟวี่เมทัลของไทย ของวงไฮ-ร็อก มีเพลง เมืองผีเสื้อ ที่กล่าวถึง มวลผีเสื้อที่อารักขาดอกไม้สร้างความสวยงามให้แก่เมือง แต่แล้วถึงวันหนึ่งก็ต้องล่มลายลง และการกระพือปีกของผีเสื้อ ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การตั้งทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก หรือทฤษฎีเคออสอีกด้วย

ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ (Danaus genutia)
ผีเสื้อเหลืองหนามแถบกว้าง (Polyura jalysus)
ผีเสื้อถุงทองธรรมดา (Troides aeacus)
ผีเสื้อหนอนหนามกะทกรก (Acraea violae)
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดา (Catopsilia pomona)
ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา (Cepora iudith)
ผีเสื้อหางพลิ้ว (Zeltus amasa)
ผีเสื้อหางพลิ้ว (Zeltus amasa)
ผีเสื้อตาลพุมคั่นกลาง (Mycalesis intermedia)